การตรวจสุขภาพก่อนกลับเข้าทำงาน

การประเมินผู้ป่วยก่อนกลับเข้าทำงาน
(Return To Work)

การประเมินผู้ป่วยก่อนกลับเข้าทำงานเป็นกระบวนการหนึ่งในการดูแลรักษา ผู้ป่วยแบบองค์รวม (Holistic Approach) ซึ่งแพทย์ด้านอาชีวเวชกรรม จะประเมินสุขภาพผู้ป่วย ลักษณะงานที่ต้องกลับไปทำงานนั้นๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ป่วย ไม่เกิดการบาดเจ็บ หรือเจ็บป่วยซ้ำจากการกลับไปทำงาน ลดความเสี่ยงอันตรายของ เพื่อนร่วมงานที่อาจเกิดจากการกลับเข้าทำงาน

ขั้นตอนการประเมินผู้ป่วย

1.รวบรวมข้อมูลที่ต้องทราบ มี 3 ด้าน คือ
   1) ข้อมูลเกี่ยวกับอาการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วย
   2) ข้อมูลเกี่ยวกับงานของผู้ป่วย
   3) ข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิ์การรักษา
2.ประเมินความเสี่ยง (Risk) คือ การประเมินจากอาการป่วยที่เป็นอยู่ ว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายในกระบวนการทำงานหรือไม่
3.ประเมินความสามารถ (Capacity) คือ ความสามารถของร่างกายผู้ป่วยขณะนั้น ที่จะทำงานที่ระบุได้หรือไม่
4.ประเมินความอดทน (Tolerance) คือ การประเมินความพร้อมด้านจิตใจในการกลับเข้าทำงานนั้น

เกณฑ์ในการส่งผู้ป่วยประเมินก่อนกลับเข้าทำงาน

  1. เข้ารับการรักษาหรือผ่าตัดนอนพักรักษาที่โรงพยาบาล (เป็นระยะเวลานานเกิน 2 สัปดาห์ ถึง 1เดือน)
  2. ผู้มีปัญหาทางสุขภาพจิตที่อาจส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยและการทำงาน
  3. การทำงานที่ต้องอาศัยอุปกรณ์ช่วยเหลือ เช่น รถเข็น ไม้ค้ำยัน รวมถึงการได้รับการบำบัดรักษาด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู และกายภาพบำบัด
  4. การเจ็บป่วยหรือการบาดเจ็บประสบอันตรายที่ต้องลาหยุดงานมากกว่า 7 วัน
  5. การเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง ฯลฯ
  6. การเจ็บป่วยหรือการประสบอุบัติเหตุที่ทางสถานประกอบการ หรือกองทุนเงินทดแทนเห็นสมควรเข้ารับการประเมินเพื่อกลับเข้าทำงาน

ประโยชน์ในการ Return to work

การประเมินผู้ป่วยก่อนกลับเข้าทำงานเป็นการประเมินร่วมกันของแพทย์ด้านอาชีวเวชกรรม แพทย์เจ้าของไข้ ตัวผู้ป่วย หัวหน้างาน และสถานประกอบการ เพื่อพิจารณาให้ผู้ป่วยกลับเข้าทำงานในระยะเวลาที่เหมาะสม ไม่หยุดงาน นานเกินไปจนทำให้ผู้ป่วยสูญเสียรายได้ หรือหัวหน้างาน และสถานประกอบการ สูญเสียบุคลากรที่มีประสิทธิภาพในการทำงาน