การประเมินความเสี่ยงในสถานประกอบการ

การเดินสำรวจในสถานประกอบการ
( Walk through survey )

การสำรวจในสถานประกอบการ เป็นการสำรวจเบื้องต้นเรียกว่าการสำรวจแบบสังเกตการณ์ (Observation survey) ซึ่งหมายความรวมไปถึงการเดินสำรวจเยี่ยมชม (walk tour) สถานประกอบการ จึงมักเรียกโดยรวมว่า “walk-through” เป็นการค้นหาข้อมูลเชิงระบบเพื่อตัดสินว่าในพื้นที่การทำงานมีสิ่งคุกคามใดบ้าง จัดลำดับความสำคัญของปัญหาที่พบ ชี้บ่งเส้นทางการได้รับสัมผัส ประมาณการระยะเวลาและความถี่ของการได้รับสัมผัสสิ่งคุกคามนั้นๆ และควรมีการตรวจวัดสิ่งแวดล้อมใดบ้าง เป็นต้น

วัตถุประสงค์ของการเดินสำรวจในสถานประกอบการ

1) เพื่อสำรวจหาสิ่งคุกคามสุขภาพทางเคมี กายภาพ ชีวภาพ การยศาสตร์ จิตวิทยาสังคม และอุบัติเหตุในสถานที่ทำงาน
2) เพื่อสำรวจมาตรการควบคุมที่มีอยู่ในโรงงานว่ามีอะไรบ้าง มีประสิทธิภาพเป็นอย่างไร เพียงพอหรือไม่ และต้องจัดทำเพิ่มเติมหรือไม่
3) เพื่อประเมินความเสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพของคนงาน เพื่อจะได้ข้อมูลว่ามีความจำเป็นต้องปรับปรุงระบบควบคุมที่มีอยู่หรือไม่
4) เพื่อวางแผนการประเมินอันตรายจากการทำงานที่เหมาะสมต่อไป
5) เพื่อประเมินแนวคิดของผู้บริหาร หัวหน้างาน และคนงานที่มีต่อมาตรการควบคุมป้องกันสิ่งคุกคามสุขภาพ

ดังนั้นก่อนที่จะมีการเดินสำรวจ ควรเริ่มต้นจากการประชุมกลุ่มย่อยร่วมกับตัวแทนนายจ้าง ตัวแทนลูกจ้าง หัวหน้างาน นักสุขศาสตร์อุตสาหกรรม (นักอาชีวสุขศาสตร์) หรือเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน พยาบาลอาชีวอนามัย (ถ้ามี) แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ (ถ้ามี) และตัวแทนสหภาพ (ถ้ามี) เพื่อจัดเตรียมข้อมูลก่อนการเดินสำรวจเบื้องต้นดังต่อไปนี้

  • ผังกระบวนการผลิต – วัตถุดิบ/สารเคมีที่ใช้ในกระบวนการผลิต
  • เอกสารกำกับความปลอดภัย (Safety data sheet – ผลการตรวจวัดสิ่งแวดล้อม
  • ตารางการซ่อมบำรุงรักษา อายุการใช้งานและสภาพการใช้งานของเครื่องจักรในปัจจุบัน
  • ผลการผลิต/อัตราการผลิต – การแจกอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล – สถิติ/อัตราการเข้า-ออกของพนักงาน
  • ระบบการทำงานเป็นกะ – ปัญหาสุขภาพที่มักมีการร้องเรียน

ประโยชน์ที่สถานประกอบการจะได้รับ

  • เพื่อนำไปปรับสภาพแวดล้อมทั่วไปของโรงงาน (general environment) การรักษาความสะอาด การบำรุงรักษาสถานที่ (housekeeping) การจัดวางผังโรงงาน (layout)
  • เพื่อเป็นมาตรฐานการดูแลด้านความปลอดภัย (safety environment) ในที่ทำงาน
  • เพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยงจากการสัมผัสสิ่งคุกคาม (hazard) ของคนทำงานแต่ละแผนก
  • เพื่อจัดอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (personal protective equipment; PPE) ได้อย่างเหมาะสม
  • เพื่อจัดรายการตรวจตามความเสี่ยง จากการสัมผัสสิ่งคุกคาม (hazard) ของคนทำงานแต่ละแผนก

หากสถานประกอบการสนใจ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่กลุ่มงานอาชีวเวชกรรม
โทรศัพท์ 02-598-8885 , 02-598-8812